วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

นิทาน เรื่อง คนเกียจคร้านทำนา

หนุ่มชาวนาผู้หนึ่งซึ่งเป็นคนเกียจคร้านยิ่งนัก ครั้นเมื่อได้หว่านข้าวในที่นาของตนแล้ว ก็ทิ้งขว้างมิยอมใส่ใจหว่านไถอย่างเพื่อนชาวนาคนอื่นๆ
ครั้นเมื่อต้นข้าวของตนแคระแกร็นและมิเจริญงอกงามเต็มผืนนาอย่างของเพื่อนบ้านจึงให้นึกประหลาดใจเป็นยิ่งนัก
“เพื่อนเอ๋ยทำไมต้นข้าวในนาของพวกเจ้าถึงได้ออกดอกออกรวงสวยสะพรั่งเต็มนาข้าวไปหมด ทำไมผืนนาของฉันขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง พวกเจ้ามีเคล็ดลับดีๆอย่างไรช่วยแนะนำบ้างสิเพื่อนเอ๋ย”
ชาวนาหนุ่มผู้เกียจคร้านและโง่เขลาไถ่ถามเพื่อนบ้านด้วยความรู้สึกอิจฉามิใช่น้อย
ชาวนาเพื่อนบ้านได้ฟังเช่นนั้นก็เอ่ยเป็นเชิงประชดขึ้นว่า
“เคล็ดลับน่ะหรือไม่ยากหรอกเพื่อนเอ๋ย ถ้าเจ้าอยากให้ต้นข้าวงอกงามเร็วก็ให้มันได้ดมกลิ่นจอบเสียบ้างสิ”
ชาวนาหนุ่มผู้เกียจคร้านได้ยินเช่นนั้นก็ดีใจยิ่งนัก วันรุ่งขึ้นจึงรีบเอาจอบของตนไปวางไว้ที่กลางผืนนา แล้วก็ล้มตัวนอนหลับสบายจนกระทั่งเย็นย่ำจึงได้ลุกขึ้นไปแบกจอบกลับบ้าน
พอเช้าวันรุ่งขึ้นก็ออกไปที่ผืนนาเอาจอบไปวางไว้กลางทุ่งนาแล้วก็นอนหลับสบายจนเย็นค่ำอีก เป็นเช่นนั้นทุกวันจนกระทั่งเวลาผ่านไปเดือนเศษๆ เขาก็ยังไม่เห็นว่าต้นข้าวของเขาจะเจริญงอกงามออกดอกออกรวงแต่อย่างในนาข้าวของเพื่อนบ้านแต่อย่างใด
ในทางตรงกันข้ามต้นข้าวของตนมีแต่จะยิ่งแห้งเหี่ยวอับเฉาจนตายไปหมดทั้งผืนนา
ชาวนาหนุ่มผู้เกียจคร้านจึงเดินไปหาเพื่อนบ้านที่มีที่นาติดกัน เขายืนเกาศีรษะพลางเอ่ยถามเพื่อนบ้านว่า
“เพื่อนเอ๋ย เพื่อนมีวิธีอื่นที่เป็นเคล็ดลับดีๆ ที่จะแนะนำข้าอีกหรือไม่ เพราะวิธีเดิมนะสงสัยจะไม่ได้ผล คงเป็นเพราะจอบของข้านะสงสัยคงจะไม่มีกลิ่นให้ต้นข้าวดมทุกวันจึงทำให้ยังไม่เติบโตงอกงามมีแต่จะตายลงจนหมดน่ะสิ”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนโง่และคนเกียจคร้านมักคอยแต่จะให้ผู้อื่นคอยช่วยเหลือ และไม่ยอมที่จะลำบากเพื่อแลกมาซึ่งความสำเร็จใดๆ

วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

บทความความซื่อสัตย์

ความซื่อสัตย์

ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง มีความซื่อตรง มั่นคงอยู่ในศีลธรรม มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น มีความสุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ 
ในสังคมวันนี้ ความซื่อสัตย์ได้กลับกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อคนส่วนใหญ่ละเลย ด้วยจิตสำนึกผิดชอบที่คิดว่าเป็นเรื่องที่สามารถปฏิบัติได้โดยง่าย แต่ในความจริงแล้วความซื่อสัตย์เป็นเรื่องท้าทายใจอยู่ทุกขณะจิต เราต้องตัดสินใจที่ตอบรับหรือปฏิเสธว่าเราจะยังเดินอยู่ในกรอบแห่งความถูกต้องหรือไม่ ความซื่อสัตย์ที่แท้จริงยังเป็นเรื่องที่ต้องวัดได้ในขณะที่ยังไม่มีใครควบคุม ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครมาคอยบังคับอีกด้วย
ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่มาจากใจจริง   :   ความซื่อสัตย์ในสังคมจัดเป็นปัญหาระดับชาติที่เริ่มตั้งแต่ตัวบุคคล สังคม และประเทศชาติ ภัยร้ายของความไม่ซื่อสัตย์ในสังคมมีมูลเหตุจากค่านิยมในการวัดความสำเร็จจากความมั่นคั่งแห่งอำนาจเงินและวัตถุ ก่อให้เกิดพฤติกรรมการดำเนินชีวิตในลักษณะกอบโกย ฉ้อฉล คดโกง ใช้อิทธิพลขู่บังคับแลกกับความมั่งคั่งให้มากและรวดเร็วที่สุด
การดำเนินชีวิตที่ไม่ซื่อสัตย์ จะก
ลายเป็นความน่าเศร้าในระยะต่อไป บุคคลเหล่านี้อาจจะไม่รู้ว่าตนเองได้ยึดความล้มเหลวที่ถูกปิดซ่อนมองไม่เห็นไว้ด้วยความหลงผิด เพราะแท้จริงแล้วมันคือ ความล้มเหลวที่เปรียบเสมือนระเบิดเวลาแห่งความหวาดกลัวที่เกรงว่าคนจะจับได้ เป็นเหมือนหนามเล็กๆที่คอยทิ่มแทงใจ
การตั้งมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์เป็นเรื่องของความจำเป็น   :   ไม่มีใครปรารถนาอยู่ในสังคมที่ปราศจากความซื่อสัตย์เพราะจะต้องอยู่อย่างหวาดระแวงและไม่มีความสุข เราต่างก็ปรารถนาความจริงใจจากกันและกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความซื่อสัตย์จากครอบครัว ชุมชน หรือสังคม
หากเราเป็นผู้หนึ่งที่มีความมุ่งหมายในเป้าชีวิตสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน เราต้องปฏิเสธการดำเนินชีวิตที่เห็นเพียงแต่ผลประโยชน์ระยะสั้นเฉกเช่นเดียวกับคนที่ดำเนินชีวิตคดโกงอื่นๆ ที่มีอยู่ในสังคม เราจำเป็นต้องยึดมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์ และพัฒนาจิตสำนึกภายในให้มั่นคงโดยยึดหลักแห่งการตัดสินใจที่ละเลือกความซื่อสัตย์อย่างแท้จริง


สาเหตุของความไม่ซื่อสัตย์ประเภทหนึ่ง คือ ความหลงอำนาจ เมื่อมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น คนเราก็มักจะมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจในทางที่ผิดมากขึ้นด้วย คือ เมื่อมีอำนาจก็หลงตน คิดว่าประสบความสำเร็จและสามารถจะทำอะไรก็ได้ รากแห่งความไม่ซื่อสัตย์ในชีวิตอาจทำให้ผู้มีอำนาจหลงไปโดยการใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ บางคนอาจถูกล่อลวงด้วยเงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง จนกระทั่งปฏิเสธความซื่อสัตย์ที่มีอยู่ในชีวิตอย่างสิ้นเชิง